การพัฒนาตนเองแบบขี้เกียจๆ


มีหลายคนที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาตนเอง ต้องเคยคิดหรือรู้สึกว่าเจ้าความขี้เกียจของเรานี่มันช่างเป็นตัวขัดขวางให้เราไม่พัฒนาเสียจริงๆ ทั้งที่มีความตั้งใจเริ่มต้นไว้ดิบดีแล้วก็ตาม.. เขาถึงได้บอกว่าการพัฒนาตนเองนั้นเราต้องมีเป้าหมาย มีแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ เพราะเมื่อใดเกิดขี้เกียจขึ้นมา ท้อขึ้นมา ก็จะได้แรงเหล่านี้เป็นตัวผลักให้หลุดจากความท้อ ความขี้เกียจไปได้
ซึ่งปัญหามันก็มีต่อว่า แม้ได้รับแรงผลักที่ดี บางทีผ่านไปไม่นาน มันก็ยังขี้เกียจอยู่ดี.. อาจด้วยเพราะเจออุปสรรค หมดแรงจูงใจก็ตาม คงไม่จำเป็นต้องมัวไปหาสาเหตุที่คนเราขี้เกียจ เพราะไม่ว่าจะจากเหตุไหนอย่างไรมันก็คงไม่ดี โดยอย่างยิ่งกับหลายสิ่งที่เราต้องการผลลัพธ์เป็นความสำเร็จ มันคงไม่สำเร็จได้โดยง่ายบนภาวะเช่นนี้


สำหรับผมแล้วมีแนวคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า อะไรที่เรารู้ว่ามันไม่ดี แต่เอาชนะมันไม่ได้ ตัดมันไม่ได้ เราก็ต้องปรับหรือเปลี่ยนเพื่ออยู่กับมันให้ดีให้ได้ เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอไม่มีอะไรเลวร้ายไปเสียหมด ความขี้เกียจก็เช่นกัน และมันต้องเริ่มจากการ “เปลี่ยนทัศนคติ” เปลี่ยนความคิด ไปในด้านที่ควรจะเป็น เหมือนเช่น ความขี้เกียจที่มันก็มีดีของมันอยู่ ดังแง่คิดต่อไปนี้
ก็เพราะขี้เกียจเดิน เราจึงมีรถใช้?

ขี้เกียจจึงหาทางลัด

นี่เป็นจุดแข็งของความขี้เกียจเลยทีเดียว ผมเป็นคนหนึ่งที่บ่อยครั้งขี้เกียจทำอะไรๆ ในแบบที่ เขาว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งบางทีมันมีกระบวนการที่ไม่จำเป็นเอาเสียเลย จนมันจึงกลายเป็นเรื่องที่ยาก (เพราะหลายขั้นตอน) ไปเลยก็มี จึงชอบที่จะหาทางลัดและทำมันให้สำเร็จโดยเร็ว หรือไม่เช่นนั้นก็หาวิธีช่วย หรือ เครื่องมือช่วยทำให้ขั้นตอนต่างๆ เร็วขึ้น ง่ายขึ้น อะไรก็ตาม ผมเชื่อว่า หลายๆ นวัตกรรมก็เกิดจากความขี้เกียจคล้ายกันแบบนี้แหละ จะว่าไปแล้ว บางทีก็เพราะขี้เกียจเดิน เราจึงมีรถใช้กัน ทุกวันบนโลกนี้ก็เป็นได้ (จริงๆ น่าจะอยากไปเร็วขึ้น ขี้เกียจเสียเวลามากกว่า.. แต่ก็ขี้เกียจอีกนั่นแหละ)
แต่ก็ต้องเตือนกันไว้ก่อนว่า บางเรื่อง บางอย่างมันไม่มีวิธีลัด กลายเป็นว่ามัวแต่หาวิธีทั้งๆ ที่ทำๆ มันไปเลยคงจบไปแล้ว ตรงนี้ก็ต้องดูด้วยว่าบางเรื่องมันขี้เกียจหรือขยัน(หาวิธี) แบบผิดๆ กันแน่ รวมถึงต้องเตือนกันในความคิดบางอย่างที่อยากจะลัดมากไปจนกลายเป็นสิ้นคิดในบางแง่มุม ยกตัวอย่างสุดง่าย ก็คือ ขี้เกียจทำงาน เลยไปปล้นธนาคาร นี่คือวิธีลัด ด้วยความเคารพ ขี้เกียจไม่ว่าแต่อย่าโง่ไปด้วยเลยครับ


ขี้เกียจถาม/ขอร้อง

เอาความขี้เกียจตัวเองยกมามาเป็นตัวอย่างอีกเรื่อง นี่ผมก็ถือว่าเป็นข้อดีที่สุดของความขี้เกียจของผมและมันเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผมมาเป็นผมเลยทีเดียว ในการที่คนเราจะรู้หรือทำอะไรสักอย่าง มันก็ต้องควรได้รับองค์ความรู้ที่ถูกต้องเสียก่อน ไม่เช่นนั้น สิ่งต่างๆ มันก็ยากเกินไป เพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน แต่จากประสบการณ์ ผมมักจะมีปัญหาในการที่จะถาม ขี้เกียจถาม บางทีถามไม่ได้คำตอบที่ดีพอ ทำให้ชอบที่จะหาคำตอบเอง ไม่ว่าจะเป็นการหาความรู้ ไปจนถึงลงมือลองทำด้วยตนเอง อะไรก็ตามที่เราศึกษาเอง ลองผิดลองถูกเอง เรามักจะรู้จริง รู้ซึ้งในระดับหนึ่งของสิ่งนั้นๆ เพราะผ่านกระบวนการผิดถูก หรือหาความรู้อย่างรอบด้านมาพอสมควร เมื่อมันสะสมมากเข้าเราก็รู้มาก รู้กว้าง ที่แม้ไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่อง แต่ก็ได้เปรียบคนอื่นในหลายๆ เรื่อง
หลายคนอาจบอกว่า ไม่เคยขี้เกียจถาม เพราะถามแล้วเขาบอกทำได้เร็วกว่า หรือถามให้คนอื่นช่วยทำดีกว่า รวมๆ คือขี้เกียจคิดเองทำเอง ถามเอาสบายกว่าเยอะ ผมก็เห็นด้วย แต่เฉพาะในบางเรื่องเท่านั้น เพราะหลายๆ เรื่องถ้าถามครั้งหนึ่ง เราก็รู้แค่เรื่องหนึ่งต้องถามเขาเอาอีกหลายเรื่อง แถมบางทีก็ต้องไปไล่ถามคนอื่นต่อเอาอีก ได้คำตอบผิดๆ อีก ไม่รู้จริงอีก ส่วนตัวมองว่ามันน่าเบื่อมาก ที่สำคัญคือ เราไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ในสิ่งนั้น(ต้องไปถามคนอื่น) หลายเรื่องเป็นแบบนี้จริงๆ ซึ่งก็จะมีคนประเภทหนึ่ง เหมือนจะขี้เกียจเรียนรู้ แต่ขยันถามแล้วถามอีกไม่มีเบื่อ!
กระนั้นความขี้เกียจถาม ขี้เกียจร้องขอนี้มีข้อเสียอีกเหมือนกัน คือ เสียเวลา ต้องเจียดเวลาเพื่อรู้เอง เพื่อลองเอง บางทีถามถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา ง่ายกว่าจริงๆ ดังนี้ดูดีๆ ว่ามีใครพอพึ่งพาได้ไหม และอะไรก็ตาม ดังที่บอกไปส่วนหนึ่งว่า นี่ทำให้ผมเป็นแบบนี้ เป็นผู้มีใจที่รักจะแบ่งปันความรู้ แนวคิดต่างๆ เพราะชีวิตตัวเองเสียเวลาศึกษาอะไรมาเยอะ จึงไม่อยากให้ใครต้องเสียเวลาชีวิตไปเพียงเพื่อรู้บางเรื่องอีกเลย
หากลองคิดดูดีๆ ก็น่าสงสัยตกลงขี้เกียจจริงๆ หรือขยันผิดเรื่องอยู่กันแน่

ขี้เกียจเสียเวลา

เรื่องของเวลา แม้จริงๆ มันจะมีมาตรฐาน เท่ากันแต่ละวันกันทุกคน แต่เราก็กลับรู้สึกไม่เท่ากัน และใช้มันได้อะไรกลับมาไม่เท่ากัน หลายคนได้ประโยชน์ พัฒนา หลายคนไม่ได้ประโยชน์ การที่เราขี้เกียจทำอะไรสักอย่างหากมันเป็นสิ่งไม่จำเป็น ก็คงไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าไม่ย่อมมีผลตามมา บางเรื่องที่เรามองว่าไม่อยากทำตอนนี้ รู้สึกไม่อยากเสียเวลาทำมัน แต่ก็ต้องทำในวันหน้าอยู่ดี แบบนี้แสดงว่าเรากำลังผลัดวันประกันพรุ่ง มองให้ดีๆ แทนที่เราจะได้มีเวลาเหลือในอนาคต ก็กลายมาเสียเวลาทำสิ่งนี้อีก และด้วยเงื่อนเวลามันกลายเป็นว่า ทำภายหลังลำบากกว่า ยากกว่า หรือทำไม่ได้แล้วก็มี.. เช่น ไม่มีคนช่วย
ดีจะได้ไม่ต้องทำ?.. มันไม่เป็นเช่นนั้นน่ะสิ ทุกสิ่งในชีวิตมักเกี่ยวโยงกัน อะไรที่พลาดไป ขาดไป ย่อมต้องถูกทดแทนด้วยสิ่งหนึ่งอย่างรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งอาจฟังลึกซึ้งมากไป เช่นนั้นคิดเอาง่ายๆ แค่ว่า บางเรื่องทำๆ ไปตอนนี้ดีกว่ายากภายหลัง เหมือนบอกตัวเองว่า “อย่าต้องเสียเวลากับเรื่องนี้อีก” นั่นก็คือ ทำให้มันจบๆ ไปซะ
ขี้เกียจเสียเวลา ก็ยังมีอีกมุม ดังที่บอกไปว่าเวลาเรามีเท่ากัน แต่หลายคนแทนที่จะเอาไปทำอะไรก็ไม่ทำ อ้างว่าขี้เกียจ แต่มักขยันที่จะไป ฟัง รู้ สนใจ เรื่องคนอื่นไว้ก่อน บ้างอ้างว่าช่วย ช่วยรับฟัง หรืออะไรก็ตาม ซึ่งการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นเรื่องดี แต่บางทีก็ขยันแต่เรื่องคนอื่น เพราะคิดเอาว่าตัวเองคงไม่สามารถทำชีวิตตัวเองดีขึ้นได้ง่ายๆ เลยทำให้การได้ช่วยคนอื่นนั้น มันทำให้ชีวิตดูมีคุณค่าขึ้น.. ก็ไม่ผิดที่คิดเช่นนี้ แต่ลองตรองดีๆ ว่าคนเราหากนำพาชีวิตตัวเองก้าวหน้าได้มาก นั่นก็ยิ่งมีกำลัง มีอะไรไว้ช่วยคนอื่นได้มากกว่าตอนนี้หลายเท่านัก และไม่ตกอยู่ในภาวะช่วยแต่เขา ตัวเองเอาไม่รอดอีกด้วย คนเป็นเช่นนี้ อยากก้าวหน้า อยากพัฒนาตนเอง แต่เลือกที่จะใช้เวลากับเรื่องคนอื่น พอเรื่องของตัวเองเต็มไปด้วยข้ออ้างในการทำ และออกแนวขี้เกียจ หากลองคิดดูดีๆ ก็น่าสงสัยตกลงขี้เกียจจริงๆ หรือขยัน.. ผิดเรื่องอยู่กันแน่?

มีหลายอย่างที่คิดว่าขี้เกียจ แต่ที่จริงขยันนะที่ทำไปแบบนั้น

ขี้เกียจทำซ้ำซาก/แก้ไข

นึกกันดูสักหน่อย เราก็จะเจอว่าหลายอย่าง อาจเป็นงานหรือเรื่องในชิวิตประจำวัน ที่เรารู้สึกว่าขี้เกียจและไม่เปลี่ยนแปลงโดยที่มันอาจเป็นเรื่องที่ต้องทำ และทำซ้ำๆไปเช่นนั้น บ้างก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอยู่เช่นนั้น เหมือนคำคมที่เขาว่า “ทำอะไรเดิมๆ ก็ได้ผลลัพธ์เดิมๆ” ในมุมหนึ่งนึ่สะท้อนการพัฒนาบางอย่างของชีวิตชัดเจน และควรจะคิดได้ว่าทำไมไม่คิดหาวิธีที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรซ้ำๆ ต้องแก้ไขเรื่องเดิมๆ ล่ะ ทำให้ผมมองว่า มีหลายอย่างที่คนเราคิดว่าขี้เกียจ เลยไม่ใส่ใจ แต่ที่จริงขยันนะ ที่ทำไปแบบนั้น เพราะมันต้องทำซ้ำๆ ซากๆ หลายๆ รอบแก้ปัญหาแบบเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องคน เรื่องงาน หรือเรื่องอะไรก็ตาม
อาจมีข้อโต้แย้งขึ้นมาว่าให้ทำไงล่ะ เปลี่ยนไม่ได้ ไม่เป็น..ไม่รู้หรอก ก็แล้วแต่ปัจจัย เช่น งานบางอย่างที่คุณเองก็ไม่เข้าใจว่า ต้องทำเรื่องนี้ซ้ำๆ ไปทำไม แต่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะเป็นคำสั่ง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะขยันทำต่อไป หรือขี้เกียจหาวิธีใหม่? เพราะไม่จริงเลยที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงงานไปในทางดีขึ้นไม่ได้ หากมันดีจริงๆ หรือดีพอ มันย่อมพิสูจน์ตัวเองได้ ไม่เช่นนั้น หางานใหม่อาจสบายกว่าเดิมก็ได้ (จริงๆ เยอะมากที่เปลี่ยนแปลง แล้วงานน้อยลง แต่เงินดีกว่าเดิม) แต่ก็นั่นแหละ ขี้เกียจหางานใหม่.. แต่ขยันทำงานเดิมๆ ที่ไม่มีอะไรดีขึ้น..

ขี้เกียจพูด/อธิบาย

ทำดีกว่าพูด เราก็รู้กันอยู่ แต่ก็มีไม่น้อยที่รู้สึกว่า ขี้เกียจพูดทำไปเลยดีกว่า แต่ผมไม่ได้กำลังหมายความว่า ขี้เกียจพูดแบบนี้จะดี เพราะนี่มันก็ต้องขยันทำ และมันกลายเป็นว่าก็ต้องทำมันเรื่อยไป และคนที่ขี้เกียจจริงๆ ก็จะรู้ว่ามีคนทำแทน (จนเริ่มงงว่าใครขี้เกียจ ใครขยันกันแน่งานนี้)
แต่ที่จริง การขี้เกียจพูด และขี้เกียจอธิบายนี้เป็นเรื่องดีจริงๆ คือลงมือทำไปเสีย (ไม่ต้องพูดอยู่) และไม่ต้องอธิบาย (ให้มันผ่านไป) เราจะมีเวลาไปคิด ไปทำเรื่องดีๆ อีกมากมาย ซึ่งในทางตรงกันข้าม คนที่เอาแต่พูด วิจารณ์ ขยันอธิบาย วิเคราะห์ต่างๆ นาๆ ให้คนอื่นนั้น บางทีก็น่าสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีปัญญาทำด้วยตนเองหรือเปล่า หรืออยากให้เขาช่วย อยากสำคัญ จนบางทีก็งงว่า ต้องการอะไรกันแน่
การเป็นคนขี้เกียจพูด/อธิบาย แล้วลงมือทำนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทำแทนใคร ทำเรื่องของใคร เพราะบางครั้งเราไปพูด ไปบ่น ไปอธิบายเร่ืองของคนอื่นที่เราคิดว่า “ห่วง และ หวังดี” ก็ไม่ผิดหรอก แต่ถ้า “ขยัน พูด อธิบาย สิ่งเหล่านั้น” คุณว่า ได้อะไร?.. นั่นแหละเชื่อว่าทุกคนเข้าใจ อย่าไปขยันอะไรสิ่งนี้เลย
การที่เราขี้เกียจ แค่เพราะทำสิ่งไม่ชอบ หรือมันยังไม่ใช่

ขี้เกียจก็คือขี้เกียจ!!

ถ้าใครขยันอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคิดตามบ้าง แย้งบ้าง ก็อาจจะมองว่า เรื่องนี้ไม่เข้าท่า มันไม่ใช่ว่าขี้เกียจแล้วจะพัฒนาตนเองได้ มันก็แค่เปลี่ยนมุมมองที่ อาจต้องทำบางอย่าง ก็ในเมื่อสำหรับคนขี้เกียจแล้ว “มันไม่อยากทำอะไรสักอย่าง”..
ผมไม่เชื่อว่ามันคือความเป็นจริง เพราะแท้แล้ว ความขยัน กับความขี้เกียจนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ใครชี้วัด คนขยันนั่ง กับคนขยันยืน ก็ขยันเหมือนกัน คนขยันนั่ง ก็บอกว่าขี้เกียจยืน คนขยันยืนก็บอกว่า ขี้เกียจนั่ง มนุษย์นั้นหากหัวใจยังเต้นแล้ว ย่อมต้องสูบฉีดให้ร่างกาย สมองดำเนินไป ในทิศทางที่คนๆ นั้นต้องการ เพียงแต่ว่า เมื่อไม่ใช่สิ่งที่ต้องการมันจึงไม่อยากกระทำ และ การที่เราขี้เกียจ แค่เพราะทำสิ่งไม่ชอบ หรือมันยังไม่ใช่ ความขี้เกียจมีข้อดีดังที่ยกตัวอย่างไป
ความขยันก็มีข้อดีแบบที่รู้กันอยู่ แต่ขี้เกียจผิดเรื่องก็ไม่ดี ขยันผิดเรื่องก็ไม่ดีได้อีก สิ่งที่ต้องข้าม คือ ใจ เท่านั้น ใจที่พ่ายแพ้หรือยังสู้ ลองดูดีๆ ที่ขี้เกียจนั้น มันแค่ใจที่ไม่สู้หรือเปล่า เพราะหากใจยังไหวคำว่าขี้เกียจ ก็เปลี่ยนเป็นการพัฒนาตนเองได้เช่นกัน